สถานที่ท่องเที่ยวเมืองสมุทรปราการ หอชมเมืองจังหวัดสมุทรปราการ

SAMUT PRAKAN LEARNING PARK AND TOWER สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ใจกลางเมืองสมุทรปราการ

 จังหวัดสมุทรปราการนั้นเป็นจังหวัดที่มีมาอย่างช้านาน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และในอนาคตยังมีการวางแผนที่จะพัฒนาเมือง พวกเราได้มีโอกาสไปที่หอชมเมืองจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเรียนรู้ประวัติความเป็นมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน จนถึงการพัฒนาเมืองในอนาคต

 หอชมเมืองสมุทรปราการ เป็นแลนด์มาร์คใจกลางเมืองสมุทรปราการ  ตั้งอยู่บนถนนอมรเดช ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โดยโครงการนี้ ได้รับการออกแบบจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ (อบจ. สมุทรปราการ) และเทศบาลนครสมุทรปราการร่วมมือกัน ตั้งแต่ปี 2542 พื้นที่นี้เดิมเคยเป็น “เรือนจำกลางสมุทรปราการ” สร้างบนเนื้อที่ 13 ไร่ อาคารสูง 179.55 เมตร เริ่มก่อสร้างบวงสรวงลงเสาเอกเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555 โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 593,733,000 บาท จากเรือนจำกลางสู่ปราการแห่งการเรียนรู้  วัตถุประสงค์ของการสร้างหอชมเมืองสมุทรปราการนี้ เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์เหตุการณ์สำคัญในประเทศไทยของเมืองหน้าด่าน ที่ขนานนามว่า “เมืองปากน้ำ” กลายเป็นศูนย์กลางข้อมูลเกี่ยวกับจังหวัดในทุก ๆ ด้าน พื้นที่ด้านในมีการให้ความรู้ผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย น่าตื่นตาตื่นใจ เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม อีกทั้งยังมีวิทยากรให้ความรู้ตลอดการเข้าชม ผ่านนิทรรศการ “ร้อยเป็นเรื่องเมืองปากน้ำ”  “From Tales to Town

ปากน้ำเมืองมานาน
เรือจำลอง Ship Time Machine Simulator

เรือจำลอง Ship Time Machine Simulator

1.ปากน้ำเมื่อนานมา เมื่อเข้าสู่ประตูนิทรรศการโซนแรก วิทยากรจะพานั่งเรือจำลอง Ship Time Machine Simulator เพื่อเดินทางย้อนเวลากลับไปดูเมืองปากน้ำในอดีต ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญทั้งการค้าและด่านป้องกันประเทศ

จังหวัดสมุทรปราการนั้นได้ขึ้นชื่อว่าเป็นปอดของกรุงเทพ เพราะเป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ มีต้นไม้ที่เยอะจนล้อมเมืองและมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์มากมาย รวมถึงเป็นศูนย์กลางของการขนส่งแห่งหนึ่งในประเทศไทย เริ่มมาจากสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการสร้างป้อมปราการพระจุลจอมเกล้า เพื่อป้องกันศัตรูเข้ามารุกรานแผ่นดิน จนเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ได้เกิดปัญหาความขัดแย้งกันเรื่องแผ่นดินระหว่างฝรั่งเศส ป้อมปราการพระจุลจอมเกล้าแห่งนี้ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างสุดกำลัง แต่ก็ไม่อาจต้านทานกำลังรบของฝรั่งเศสได้ จนกระทั่งในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการสร้างป้อมปราการเรียงรายกันอยู่สองฝั่งของแม่น้ำ เพราะด้วยจำนวนของป้อมปราการของเมืองสมุทรปราการที่ใช้ในการป้องกันการรุกรานของชนชาติอื่นในขณะนั้น จนได้ชื่อว่า “เมืองหน้าด่านทางทะเล” 

การบรรยายผ่านเทคนิคการจัดแสดง Light & Sound Mechanic Diorama และ Projection Mapping

การบรรยายผ่านเทคนิคการจัดแสดง Light & Sound Mechanic Diorama และ Projection Mapping

2.เข้าท่า (เมือง) หน้าด่าน ในส่วนของโซนที่สอง เป็นการจำลองบรรยากาศบ้านเมือง ‘นิวอัมสเตอร์ดัม’ เมืองท่าการค้าที่สำคัญเมื่อครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยการบรรยายผ่านเทคนิค Light & Sound Mechanic Diorama และ Projection Mapping ขนาดใหญ่

 ในสมัยอยุธยาได้เริ่มมีการค้าขายกันทางเรือมากยิ่งขึ้น จนมีเรือนิวอัมสเตอร์ดัม ที่เป็นคลังสินค้าของชาวฮอลันดามาตั้งอยู่ใกล้ปากน้ำสมุทรปราการ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของเมืองปากน้ำ กำเนิดมาจากเมืองหน้าด่านแห่งหนึ่งชื่อว่า “พระประแดง” ที่มาของชื่อมาจากในสมัยอยุธยาตอนต้นเคยมีบทบาทเป็นเมืองหน้าด่านทางทะเลมาก่อน จนเกิดการเปลี่ยนแปลงของแผ่นดิน ทำให้เมืองพระประแดง ห่างจากปากแม่น้ำออกไปเรื่อย ๆ เพราะเหตุนี้สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม กษัตริย์องค์ที่ 21 ของกรุงศรีอยุธยา จึงทรงสถาปนาเมืองสมุทรปราการขึ้นบริเวณฝั่งใต้คลองบางปะกง เพื่อให้เป็นเมืองหน้าด่านทางทะเลแห่งใหม่ และอาณาจักรอยุธยาในขณะนั้นเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากทำเลที่ตั้งที่เอื้อต่อการค้าทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร จนทำให้พ่อค้าต่างชาติเดินทางเข้ามาค้าขายกันอย่างเป็นประจำ โดยเฉพาะฮอลันดาซึ่งเป็นชาติตะวันตก ที่เข้ามามีบทบาทที่ปากน้ำอย่างมากในขณะนั้น โดยความสัมพันธ์อันดีระหว่างฮอลันดา มีจุดเริ่มต้นมาจากครั้งที่ฮอลันดาเข้ามาทำข้อตกลงที่อยุธยา ในนามของบริษัทอินเดียตะวันออก  ในเวลาต่อมายังได้ชื่อว่ามีการสืบต่อของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมกับหลานชายจนได้รับชัยชนะ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเห็นถึงความดีความชอบจึงทรงจัดสรรพื้นที่ปากน้ำ บริเวณปากคลองบางปะกงให้แก่ชาวฮอลันดา เพื่อจัดตั้งขึ้นให้เป็นคลังสินค้า ที่มีชื่อเรียกว่า “นิวอัมสเตอร์ดัม” โดยที่มีชาวฮอลันดาเป็นพ่อค้าคนกลาง นำสินค้าจากอยุธยา เช่น หนังกวาง ไม้ปริศนา ไม้ป่า และอีกมากมาย ส่งขายให้ชาวต่างชาติ และรับสินค้าจากชาติอื่น ๆ มาขายในอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นโลหะ ทองแดง ผ้าชนิดต่าง ๆ และกระสุน เป็นต้น ทำให้คลังสินค้านิวอัมสเตอร์ดัมในขณะนั้น สร้างผลประโยชน์ให้แก่ชาวฮอลันดาเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ไม่เพียงแต่จัดทำเพื่อเป็นคลังสินค้าเท่านั้น แต่ยังมีทั้งหมู่บ้าน หอคอยสังเกตการณ์การเดินเรือ เมืองนิวอัมสเตอร์ดัมยังเป็นจุดแวะพักของนักเดินทาง ทำให้มีบรรยากาศที่ครึกครื้น และได้รับความนิยมอย่างมากในสมัยนั้น จนกระทั่งต่อมาการค้าขายกับฮอลันดาเริ่มไม่ได้รับความนิยมเท่าแต่ก่อน เพราะโดนอิทธิพลของฝรั่งเศสเข้ามาแทนที่ในช่วงปลายรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประกอบกับฮอลันดาต้องการเปลี่ยนถิ่นฐานการค้า จึงทำให้คลังสินค้าถูกปิดตัวลงจนค่อย ๆ หายไป และพังทลายลงตามกระแสน้ำที่ไหลเซาะตลิ่ง จึงทำให้ในปัจจุบันไม่ปรากฎหลักฐานว่าคลังสินค้าฮอลันดาเคยตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ส่วนใดของเมืองสมุทรปราการ

จำลององค์พระสมุทรเจดีย์เดิมที่ซ่อนอยู่ภายในพระสมุทรเจดีย์องค์ปัจจุบัน

จำลององค์พระสมุทรเจดีย์เดิมที่ซ่อนอยู่ภายในพระสมุทรเจดีย์องค์ปัจจุบัน

3.ปรากฏเป็นปราการ บอกเล่าเรื่องราวการสร้างบ้านแปงเมือง สร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ และเมืองสมุทรปราการ เล่าผ่านเทคนิค Invisible Fortress เหมือนกับได้ชมเรื่องราว  ผ่านสายน้ำ มีโมเดลองค์พระสมุทรเจดีย์ที่เผยให้เห็นองค์พระสมุทรเจดีย์เดิมที่ซ่อนอยู่ภายในพระสมุทรเจดีย์องค์ปัจจุบัน อีกทั้งภายในห้องนิทรรศการมีการจำลองบ้านเรือน ชุมชน เหมือนได้ย้อนไปสัมผัสกับวิถีชีวิตของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรม ทั้งชาวมอญ ชาวมุสลิม ชาวจีน จนเกิดเป็นชุมชนขนาดใหญ่

สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท ทรงสำรวจพื้นที่ป่าไม้เพื่อสร้างเมือง และได้สร้างป้อมปราการแห่งแรกขึ้น ได้ทำการสร้างเสร็จในสมัยพระพุทธเลิศลาศนภาลัย รัชกาลที่ 2 และสถาปนาชื่อว่า “นครเขื่อนขันธ์“  ได้มีการสร้างป้อมมากมาย อย่างเช่น ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย ป้อมปีศาจสิง ป้อมราหูจร นอกจากนี้ยังได้ทำการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยามีชื่อว่า “คลองลัดหลวง” เพื่อใช้เป็นเส้นทางลัดสำหรับการเดินทาง จนทำให้เมืองนครเขื่อนขันธ์มีอีกชื่อหนึ่งว่า “ปากลัด” โดยเมืองแห่งนี้ได้มีชาวมุสลิมเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ตั้งแต่รุ่นแรกก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ และรุ่นที่สองที่อพยพมาจากปัตตานี ต่อมาในปีพ.ศ. 2362 เกิดเหตุไม่น่าวางใจ จึงได้ทำการสร้างป้อมเพิ่ม โดยมีป้อมผีเสื้อสมุทร คราวเดียวกับป้อมประโคนชัย ป้อมนารายณ์ปราบศึก ป้อมปราการ ป้อมกายสิทธิ์ ซึ่งสร้างขึ้นทางฝั่งตะวันออก ชักปีกกาถึงกัน 4 ป้อม ส่วนบนฝั่งด้านตะวันตกตรงกัน ก็สร้างขึ้นอีกหนึ่งป้อม ชื่อว่าป้อมนาคราช ส่วนป้อมผีเสื้อสมุทรสร้างขึ้นบนเกาะกลางน้ำ ในระหว่างการสร้าง รัชกาลที่ 2 ทรงทอดพระเนตรเห็นเกาะเล็ก ๆ ที่ล้อมรอบด้วยหาดทราย ทรงสร้างพระมหาเจดีย์ขึ้นที่เกาะกลางน้ำแล้วพระราชทานนามว่า “พระสมุทรเจดีย์”  แต่ยังไม่ทันเสร็จ ก็สิ้นรัชกาลก่อน ต่อมารัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อเป็นพระเจดีย์สูง 20 เมตร จนสร้างเสร็จสมบูรณ์ ในปีพ.ศ. 2371 ต่อมาเกิดเหตุไม่น่าไว้วางใจ จึงได้มีการเสริมสร้างป้อมปราการใหม่ ได้แก่ ป้อมปีกกา ป้อมตรีเพชรเหนือเมืองสมุทรปราการ  ป้อมพิฆาตข้าศึกที่เมืองสมุทรสงคราม และป้อมเสือซ่อนเล็บที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เมื่อเมืองปราการแข็งแกร่งพอแล้ว รัชกาลที่ 4 ทรงยุติการสร้างป้อมที่ปากน้ำแล้วให้สนับสนุนพระพุทธศาสนาแทน และเป็นเมืองที่ดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายของผู้คนต่างเชื้อชาติ

Mechanic ปืนเสือหมอบที่จำลองมาจากปืนกระบอกจริงในป้อมพระจุลจอมเกล้า

Mechanic ปืนเสือหมอบที่จำลองมาจากปืนกระบอกจริงในป้อมพระจุลจอมเกล้า

4.ปราการป้องกันแผ่นดิน สัมผัสประสบการณ์การต่อสู้กับเรือรบฝรั่งเศสที่บุกเข้าสยามประเทศในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 พร้อมการจำลองบรรยากาศการรบเสมือนจริง โดย Mechanic ปืนเสือหมอบที่จำลองมาจากปืนกระบอกจริงในป้อมพระจุลจอมเกล้า 

 จนมาถึงช่วงของยุคการโจมตีทางเรือรบจากฝรั่งเศส โดยผู้บัญชาการกองเรือฝรั่งเศสภาคตะวันออกไกล ได้สั่งให้เรือรบมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพ เพื่อกดดันฝ่ายไทย โดยมีเรือนำร่อง ซึ่งเป็นเรือสินค้าที่มีความคุ้นเคยกับร่องน้ำไทยนำขบวนเข้ามา โดยฝ่ายฝรั่งเศสมีการเตรียมการมาอย่างดี ทั้งการสวมเรือเล็ก ตรวจสอบความลึกของน้ำ และเลือกเวลาน้ำขึ้นอย่างเต็มที่ เมื่อเรือทั้ง 3 ลำแล่นมาถึงบริเวณนอกสันดร เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยได้ห้ามไม่ให้เดินทางเข้าน่านน้ำไทย แต่ฝรั่งเศสไม่ฟังคำสั่ง ฝ่ายไทยจึงให้สัญญาณเสียง ทำให้เรือรบไทยจึงทำการรบต่อ จนเรือลำแรกของฝรั่งเศสรับไม่ไหว แต่เรือรบที่เหลือทั้งสองผ่านมาจนถึงป้อมผีเสื้อสมุทร ซึ่งในช่วงนั้นเป็นเวลาค่ำแล้วทำให้มีคำสั่งไม่ให้ยิง และด้วยฝรั่งเศสมีอาวุธที่ทันสมัยกว่าฝ่ายไทย จึงทำให้เรือรบของฝรั่งเศส 2 ลำที่เหลือผ่านปราการด่านแรกแล้วเข้าสู่พระนครจนในที่สุด

ขบวนรถม้าบรรทุกเหรียญทองจำลอง  (เงินถุงแดง)

ขบวนรถม้าบรรทุกเหรียญทองจำลอง  (เงินถุงแดง)

 ผลจากสงครามครั้งนั้นเกิดความเสียหายอย่างมาก และข้อเสนอที่ฝรั่งเศสเรียกร้องต่อรัฐบาลสยาม ผลของวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 หลังจากเหตุการณ์รบในครั้งนั้น สยามได้สูญเสียทหารถึง 8 นาย และบาดเจ็บ 40 นาย และฝ่ายฝรั่งเศสสูญเสียทหาร 3 นาย และบาดเจ็บ 3 นาย แต่ฝรั่งเศสก็ยังเรียกร้องสิทธิผลประโยชน์กับสยาม โดยให้สยามต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม หรือที่เรียกว่า “เงินถุงแดง” หลังจากสงครามได้จบลงทำให้สยามต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับฝรั่งเศส เป็นจำนวน 3,000,000 ฟรังก์ โดยให้ชำระเป็นเงินเหรียญทันที ภายในระยะเวลาเพียง 48 ชั่วโมงเท่านั้น และนอกจากนั้นยังมีการสูญเสียดินแดนเกิดขึ้น โดยการสูญเสียครั้งนี้จะอยู่ฝั่งด้านซ้ายแม่น้ำโขง ฝั่งขวาแม่น้ำโขง มณฑลบูรพาและหัวเมืองประเทศราช ได้แก่ประเทศลาว ประเทศกัมพูชา และประเทศมาเลเซีย พื้นที่รวมแล้วมากกว่า 299,500 ตารางกิโลเมตร 

จำลองสถานีรถไฟสายปากน้ำ

จำลองสถานีรถไฟสายปากน้ำ

 เหตุการณ์วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศรัสเซียและประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจ และพระองค์ท่านได้นำความรู้เข้ามาพัฒนาบ้านเมือง ทั้งด้านการเมือง ด้านสังคม จนได้มีการยกเลิกทาสเกิดขึ้น ด้านสถาปัตยกรรม มีการสร้างกำแพงเมือง อาคารบ้านเมืองในรูปแบบของชาวตะวันตก และด้านการคมนาคม ได้มี  การจัดตั้งรถไฟสายแรกเกิดขึ้นนั่นก็คือ “รถไฟสายปากน้ำ”

 รถไฟสายปากน้ำ ถือว่าเป็นรถไฟสายแรกในประวัติศาสตร์ของไทย และเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนากิจการรถไฟไทยในเวลาต่อมา ในช่วงเหตุการณ์ ร.ศ.112 รถไฟขบวนนี้เคยใช้สำหรับสงครามมาก่อน โดยใช้สำหรับขนส่งกำลังพลไปส่งที่ปากน้ำได้รวดเร็วขึ้น ต่อมาได้ถูกพัฒนาให้เป็นช่องทางการขนส่งสายใหม่เพื่อให้สามารถเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น ทำให้การเดินทาง การค้าขาย การประมง คล่องตัวมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ชาวไทยที่ใช้บริการ ชาวต่างชาติอย่างชาวจีน ชาวมอญก็ใช้บริการ ทำให้การเดินทางไปธุระ และท่องเที่ยวได้สะดวกยิ่งขึ้น จนทำให้เมืองปากน้ำจัดเป็นเมืองที่เจริญเมืองหนึ่ง

จอภาพดอกโพทะเลขนาดใหญ่กลางห้องนิทรรศการ

จอภาพดอกโพทะเลขนาดใหญ่กลางห้องนิทรรศการ

5.หน้าด่านสานเศรษฐกิจ ทำให้เราเข้าใจและเห็นภาพความเข้มแข็งในมุมของเมืองอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น ผ่านการเล่าเรื่องเมืองสมุทรปราการ เกี่ยวกับเรื่องราวการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคการท่องเที่ยว และภาคการจัดพื้นที่สีเขียวของเมืองสมุทรปราการผ่านจอภาพที่ออกแบบเป็นต้นโพทะเลขนาดใหญ่กลางห้องนิทรรศการ

 ต้นโพทะเล (Portia Tree) ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสมุทรปราการ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก พบได้ในบริเวณชายฝั่งทะเลเขตร้อน หรือหลังแนวป่าโกงกาง เมื่อเริ่มบานดอกจะมีสีเหลือง และเปลี่ยนเป็นสีม่วงภายใน 24 ชั่วโมง ก่อนร่วงหล่น ใบเป็นรูปหัวใจ เนื้อไม้นิยมนำมาทำเครื่องเรือนเนื่องจากทนทาน ส่วนเปลือกไม้ใช้ทำตอกหมันเรือ เชือก และสายเบ็ดได้

อุตสาหกรรม

 จังหวัดสมุทรปราการในฐานะที่เป็นเมืองหน้าด่านทางทะเลได้มีการพัฒนาทางด้านการสร้างป้อมปราการต่าง ๆ รวมไปถึงทางด้านคมนาคม การติดต่อสื่อสาร การพัฒนาทางด้านแหล่งท่องเที่ยว โดยมีเมืองอุตสาหกรรมที่เห็นเด่นชัดก็คือ นิคมอุตสาหกรรมบางปู และมีสินค้า OTOP ของขึ้นชื่อของสมุทรปราการที่โดดเด่นคือ กระเป๋าหนังปลากระเบน และผลิตภัณฑ์จากปลาสลิด โดยศูนย์จัดจำหน่ายสินค้า OTOP จะจัดตั้งอยู่ที่ถนนกิ่งแก้วจังหวัดสมุทรปราการ 

การคมนาคม

 สมุทรปราการมีหลายเส้นทางที่เชื่อมต่อปริมณฑล ทำให้เอื้อต่อการขนส่งและกระจายสินค้าให้ทั่วถึง และยังสร้างความสะดวกสบายในการสัญจร และสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถโดยสาร เรือ รถไฟ รถไฟฟ้า ที่เข้าถึงเมืองสมุทรปราการ สำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีบทบาทสำคัญคือเป็นทางสนามบินหลักของประเทศที่ให้บริการโดยสารสาธารณะ และช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกรรม   โลจิสติกส์ต่าง ๆ ของประเทศ ทำให้สมุทรปราการเป็นหมุดหมายของการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ 

6.มอง (กาล) ไกลไปด่านหน้า โซนสุดท้ายเป็นทางเดินกระจก Sky Walk ชมผังเมืองสมุทรปราการจำลองขนาดใหญ่ อีกทั้งยังมีกระเช้าลอยฟ้า (รับน้ำหนักได้ไม่เกิน4คน) เป็นนิทรรศการที่สื่อให้เห็นความพร้อมในอนาคตของเมืองที่ขึ้นชื่อว่า ‘ประตูด่านแรกที่เชื่อมต่อทุกพื้นที่บนโลก’ อย่างเมืองสมุทรปราการได้อย่างดี

 กระเช้าลอยฟ้าเป็นโครงการในอนาคตของจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นกระเช้าลอยฟ้า ที่พาดแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร จากฝั่งปากน้ำไปยังพระสมุทรเจดีย์ สมุทรปราการขึ้นชื่อเรื่องมีโรงงานอุตสาหกรรมมากที่สุดในประเทศ และยังมุ่งมั่นสร้างความร่วมมือกันในทุกภาคส่วนที่ผลักดันการค้าของประเทศให้ก้าวไปสู่อาเซียนได้ ศักยภาพของทะเลยังช่วยเชื่อมต่อโลกให้หมุนใกล้กันมากขึ้น ทั้งยังถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมทางอากาศ ทำให้เกิดการลงทุนในธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ ให้หลั่งไหลเข้ามา จึงขึ้นชื่อว่าเป็นโลจิสติกส์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ และสมุทรปราการยังไม่ทิ้งธรรมชาติ สร้างพื้นที่สีเขียว ยังมุ่งมั่นพัฒนาให้เป็นเมืองต้นแบบของอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ และผลักดันด้านการเกษตร จนทำให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใคร ด้วยเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของสมุทรปราการถูกยกระดับขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้

จุดชมวิว 360 ํ Scenic Spot

 นอกจากจะได้ทราบข้อมูลตั้งแต่อดีตถึงอนาคต ภายในอาคารชั้นที่ 1-3 ส่วนนิทรรศการ ชุด “ร้อยเป็นเรื่องเมืองปากน้ำ” นำเสนอเอกลักษณ์ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และเรื่องราวของจังหวัดสมุทรปราการ ที่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม ผ่านเทคโนโลยีที่มีความ ทันสมัยแล้ว ยังมีในส่วนของชั้นที่ 23  “จุดชมวิว 360 ํ Scenic Spot” จะเป็นจุดสำหรับชมวิวที่จะได้มองเห็นแม่น้ำเจ้าพระยา ไปจนถึงทะเลปากอ่าวไทย ซึ่งสามารถใช้กล่องส่องทางไกลที่ทางเจ้าหน้าที่เตรียมให้ ส่องไปดูพระสมุทรเจดีย์ ป้อมผีเสื้อสมุทร พื้นที่สีเขียวของบางกระเจ้า ป้อมพระจุลจอมเกล้า และพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ และจุดอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อเห็นทิวทัศน์ที่สวยงาม และนอกจากนี้ยังมีชั้นที่ 25 นิทรรศการเทิดพระเกียรติ “เรื่องเที่ยวเรื่องใหญ่” “TRAVEL MATTERS” “Exhibition” บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเกษตร การใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด สะพานภูมิพลและมีเรื่องเล่าจากบุคคลในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ

Infographic อุทยานการเรียนรู้หอชมเมืองสมุทรปราการ